หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555

น้ำหนักขึ้น ไม่ขาดไม่เกิน

สืบเนื่องจากบทความที่แล้วเรื่อง "น้ำหนักขึ้น up&up" ก็มีเสียงดังขรมจากคุณแม่ที่กำลังกังวลว่าถ้าเราไม่กินเต็มสตรีมแล้ว ลูกน้อยในครรภ์จะมีพัฒนาการด้านร่างกายที่สมบูรณ์หรือ มาถึงตรงนี้ผู้เขียนก็ขอให้ย้อนกลับไปตั้งต้นด้วยบทความที่ผ่านๆมาดังนี้ค่ะ

เรื่อง "น้ำหนักขึ้น up&up" ได้แนะนำว่าเราควรกินเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยเท่านั้นต่อวัน
เรื่อง "Eat for 2" ได้กล่าวถึงคำแนะนำเกี่ยวกับสัดส่วนอาหารในแต่ละวัน และปริมาณที่เหมาะสม

ที่นี้ถ้าเราปฏิบัติตามคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญแล้ว ก็มั่นใจได้เลยว่าปริมาณอาหารและสัดส่วนอาหารที่กินเข้าไปนั้นมีความเหมาะสมทั้งต่อลูกน้อยและสุขภาพของคุณแม่เอง

ข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่งเพื่อจะบ่งชี้ว่าการปฏิบัติของเรานั้นมีประสิทธิผลหรือไม่ ก็คือดัชนีชี้วัดนั่นเอง สำหรับพัฒนาการด้านร่างกายของเจ้าตัวเล็กนั้นก็ขอละให้เป็นหน้าที่ของคุณหมอในการวัดการเจริญเติบโตด้านร่างกายจากการอัลตราซาวด์ในทุกๆไตรมาส ส่วนคุณแม่นั้นสามารถเฝ้าระวังน้ำหนักตัวเองเพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่เหมาะสมเมื่อสิ้นสุดการตั้งครรภ์ สำหรับหญิงที่มีดัชนีมวลกายหรือ Body Mass Index (BMI) ในเกณฑ์ปกติจะต้องเพิ่มน้ำหนักประมาณ 11-14.5 kg. ส่วนคนที่มีค่าต่ำกว่ามาตรฐานก็ควรเพิ่มน้ำหนักถึง 12.5-18 kg แต่หากคุณมีส่วนเกินพ่วงมาด้วยแล้วก็ต้องเฝ้าระวังให้มากกว่าปกติโดยที่น้ำหนักควรเพิ่มแค่ประมาณ 7-11 kg เท่านั้นเองค่ะ เราสามารถคำนวณ BMI เองได้เพื่อจะได้ทราบว่าเราควรมีเป้าหมายเท่าไรดังนี้

 และเพื่อให้สามารถเฝ้าระวังได้อย่างเป็นระบบ เราก็เลยจัดทำworksheetง่ายๆเพื่อเก็บข้อมูลและทบทวนผลลัพธ์อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากไม่สามารถแปะไฟล์บนบล็อกได้ ผู้ที่สนใจสามารถ e-mail มาขอกันหลังไมค์ได้เลยค่ะ


ขอเป็นกำลังใจให้คุณแม่ร่วมทางทุกคนและวินัยที่ดีจะช่วยให้เราเข้าถึงเป้าหมายนั้นได้ แม้ว่าจะเผลอบ้างอะไรบ้างกับของไม่มีประโยชน์แต่อร่อยๆทั้งหลาย และสุดท้ายขอฝากข้อคิดดีๆที่เก็บมาจาก www.whattoexpect.com ที่ว่า......

เราไม่ได้อ้วน แต่เรากำลังเลี้ยงเจ้าตัวเล็กให้โตวันโตคืนอยู่ต่างหาก

Reference:
The day-by-day pregnancy book, Dr. Maggoe Blott
http://en.wikipedia.org/wiki/Body_mass_index



วันพุธที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2555

น้ำหนักขึ้น up&up

ช่วงเวลาหนึ่งเดือนที่ผ่านมาน้ำหนักตัวได้เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ ประมาณสามกิโลกรัมเห็นจะได้ ทั้งๆที่รู้มาก่อนแล้วว่าช่วงไตรมาสที่สองและสามน้ำหนักจะขึ้นไปเรื่อยๆ การตรวจครรภ์ครั้งที่ผ่านมาคุณหมอก็ได้แนะนำให้งดของอร่อยทั้งหลาย ทั้งข้าวเหนียวมะม่วง ไอศกรีม ช็อกโกแล็ต เพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อภาวะเบาหวานในระหว่างตั้งครรภ์ โดยการตรวจครรภ์เดือนหน้าซึ่งเข้าสู่สัปดาห์ที่สามสิบ เราต้องทดสอบภาวะเบาหวานอีกด้วย

ระหว่างนี้ ก็ได้บังเอิญไปเจอะกับบทความที่น่าสนใจจากนักจิตวิทยาและนักเขียนซึ่งได้เขียนบทความลง BBC Online เมื่อ 26 มิถุนายน 2555 โดยตั้งคำถามไว้อย่างน่าสนใจว่าหญิงตั้งครรภ์จำเป็นต้องกินเผื่อสองคนหรือไม่ แล้วคนตั้งครรภ์แฝด ยิ่งแฝดสามแฝดสี่ยิ่งไม่ต้องกินเพิ่มเป็นเงาตามตัวหรือ ซึ่งฝรั่งเองก็มีความเชื่อเฉกเช่นพวกเราว่า การตั้งครรภ์เป็นความชอบธรรมของว่าที่คุณแม่อย่างหนึ่ง ที่จะสามารถกินอะไรก็ได้และมากเท่าไรก็ได้ตามปากปรารถนา ซึ่งผลลัพธ์ของความเชื่อที่ไม่ถูกต้องก็ได้สะท้อนด้วยผลงานวิจัยที่ได้ถูกตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์แห่งสหราชอาณาจักร (British Medical Journal) ที่ระบุว่า 20-40% ของผู้หญิงมีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐานในระหว่างตั้งครรภ์ และสถิติดังกล่าวก็อยู่ในแนวโน้มขาขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาหารที่กินมากเกินไปไม่ได้เป็นประโยชน์กับคุณแม่หรือลูกน้อย แต่กลับส่งผลเสียต่อคุณแม่ในระยะยาวเช่นความดันเลือดที่สูงขึ้นแล้วยังทำให้ไม่สามารถลดน้ำหนักลงได้หลังระยะเวลาให้นมบุตรสิ้นสุดลง

และบทความก็นำมาสู่คำถามที่น่าสนใจว่าแล้วหญิงตั้งครรภ์ควรเพิ่มอาหารต่อวันสักเท่าไร ตามคำแนะนำของ Institute of Medicine ในสหรัฐ หญิงตั้งครรภ์ต้องการพลังงานเพิ่มอีกแค่ 340 แคลอรีหรือเทียบเท่ากับไข่สองฟองในช่วงไตรมาสที่สอง และเพิ่ม 452 แคลอรีหรือเทียบเท่ากับคุ้กกี้ธัญพืชช้อกโกแล้ตสองชิ้นและขนมปังกระเทียมอีกเล็กน้อยเท่านั้นในระหว่างไตรมาสที่สามของการตั้งครรภ์

สรุปง่ายๆก็คือเราควรกินเท่าคนคนเดียวและเพิ่มอีกเล็กน้อยเท่านั้นค่ะ